ความหมายของหลักสูตร
เสริมศรี ไชยศร (2526,
หน้า 2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1. หลักสูตร หมายถึง
ประสบการณ์ทั้งหมดของผู้เรียนในความรับผิดชอบของสถาบันหนึ่ง
โดยประสบการณ์ของผู้เรียนนั้นมี 3 ประเภท ได้แก่
ประสบการณ์ที่คาดหวัง ประสบการณ์
ที่กำลังเกิดขึ้น
และประสบการณ์ที่เป็นผลของการเรียนการสอนหรือการจัดกิจกรรมในโครงการอื่น
ซึ่งอาจมีนอกเหนือไปจากสิ่งที่คาดหวัง
2. หลักสูตร หมายถึง
แผนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการสอนหรือก่อนการปฏิบัติจริงในโครงการใดก็ตาม
อำนาจ จันทร์แป้น (2532,
หน้า 3-6) ได้วิเคราะห์และเสนอความหมายของหลักสูตรไว้ ดังนี้
1. หลักสูตรในฐานะเป็นวิชาและเนื้อวิชา
หมายถึง วิชาและเนื้อหาวิชาที่ครูจะต้องสอน และนักศึกษาจะต้องเรียน
ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและในวิทยาลัย
รวมทั้งหมายถึงชุดของวิชาหรือรายวิชาที่จัดให้ ในมหาวิทยาลัยด้วย หรือมักใช้คำว่า
หลักสูตรโปรแกรม ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มรายวิชาต่างๆ
2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์
หมายรวมถึงประสบการณ์ทั้งมวลที่ผู้เรียนได้รับภายใต้การแนะแนวของโรงเรียน
3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนของโอกาสการเรียนรู้
(แผนประสบการณ์) ประกอบด้วยแผนการหรือเจตนารมณ์ชุดหนึ่งด้วย แผนหลักสูตร (Curriculum
plan) จะประกอบด้วยแผนย่อยๆ
เฉพาะด้านที่บ่งบอกถึงความมุ่งหวังของโอกาสการเรียนรู้
จุดเน้นจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะที่จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์
แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของหลักสูตร อันได้แก่
การนำหลักสูตรไปใช้หรือการสอนและการประเมิน
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรับการพิจารณาและใช้แผนหลักสูตรกับกลุ่มประชากรเป้าหมาย
นาตยา ปิลันธนานนท์ มธุรส จงชัยกิจ
และศิริรัตน์ นีละคุปต์ (2542,
หน้า 35) กล่าวว่า หลักสูตร คือ
แผนงานในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้
และการนำเสนอแผนงานเหล่านี้ไปใช้เพื่อให้เกิดผลในการปฏิบัติจริง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2547, หน้า 4) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่าหมายถึง
แผนหรือแนวทางในการจัดประมวลความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งจัดทำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลในระดับสถานศึกษา
เพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้
ความสามารถและทักษะตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
และส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ชุมชน สังคม
และโลกอย่างมีความสุข
ฆนัท ธาตุทอง (2550ข, หน้า 4) ได้เสนอความหมายของหลักสูตร คือ
การบูรณาการศิลปะการเรียนรู้ และมวลประสบการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน
ซึ่งสามารถนำไปสู่การจัดกิจกรรม
การเรียนรู้
เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามสิ่งที่คาดหวัง และมีการกำหนดแผนงานไว้ล่วงหน้า
โดยสามารถปรับปรุง พัฒนาให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนได้มีความรู้
ความสามารถสูงสุดตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
นพเก้า ณ
พัทลุง (2552,
หน้า 4) ให้ความหมายของหลักสูตร คือ
สิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ต่างๆ
และทำให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนด
Parkay, Anctil, and Glen (2006, pp. 3-5) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้
คือ
ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผู้เรียนได้รับจากการจัดการศึกษาภายใต้โปรแกรมหรือวัตถุประสงค์หนึ่งๆ
ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการศึกษาของแต่ละสถาบันการศึกษา ซึ่งหลักสูตรต้องได้รับการพัฒนามาจากทฤษฎีและงานวิจัยทางการศึกษา
คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนความคาดหวังของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
จากความหมายของหลักสูตรข้างต้นสรุปได้ว่า
หลักสูตร หมายถึง แผนประสบการณ์ หรือมวลประสบการณ์ทั้งหมดที่จัดไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
เพื่อจัดให้กับผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้และเกิดพัฒนาการในด้านร่างกาย สังคม
อารมณ์ และสติปัญญา ตลอดจนทักษะต่างๆ ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
อ้างอิง
ฆนัท
ธาตุทอง. (2550ข). เทคนิคการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา (พิมพ์ครั้งที่
3). นครปฐม : เพชรเกษมการพิมพ์.
นาตยา
ปิลันธนานนท์ มธุรส จงชัยกิจ และศิริรัตน์ นีละคุปต์. (2542). การศึกษาตามาตรฐาน : แนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : แม็ค.
นพเก้า
ณ พัทลุง. (2552).
การพัฒนาหลักสูตร : หลักการและแนวปฏิบัติ. สงขลา : เทมการพิมพ์สงขลา
เสริมศรี
ไชยศร. (2526). ระบบหลักสูตร – การสอน. เชียงใหม่ :
พระสิงห์การพิมพ์.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
(2547). แนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาแบบอิงมาตรฐาน. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
อำนาจ จันทร์แป้น. (2532). การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Parkay,
F. W., Anctil, E. J. & Glen Hass. (2006). Curriculum planning : a
contemporary approach. USA : Pearson Education.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น